"โรคลมแดด" (Heat Stroke) ภัยอันตรายในหน้าร้อนที่ควรระวัง!
ช่วงฤดูหนาวเมื่อต้นปี 2568 เรียกได้ว่าเป็นปีที่หนาวได้สมศักดิ์ศรีจริง ๆ หลายคนฟินไปกับอากาศที่หนาวเย็นสบาย แต่ไม่ทันไรเมื่อเริ่มเข้าเดือนมีนาคมประเทศไทยเราก็เข้าสู่หน้าร้อนอย่างเป็นทางการ ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัดในเวลากลางวัน ทำให้ต้องเฝ้าระวังถึงภาวะลมแดดที่อาจทำให้อุณหภูมิร่างกายเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็น โรคลมแดด (Heat Stroke)
โรคลมแดด (Heat Stroke) คืออะไร ?
โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก คือ ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมอุณหภูมิได้เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความร้อนสูง (อุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส) ส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย และเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่สามารถทำให้เสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที
สาเหตุของการเกิดโรคลมแดด (Heat Stroke)
1. โรคลมแดดที่เกิดจากการออกกำลังกาย (Exertional Heatstroke) คือ เกิดจากการออกกำลังกายหรือกิจกรรมที่ต้องออกแรงอย่างหนักขณะที่อยู่ในสภาพอากาศร้อนจัด
2. โรคลมแดดที่ไม่ได้เกิดจากการออกกำลังกาย (Nonexertional or Classic Heatstroke) คือ เกิดจากการที่ต้องอยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้นเป็นเวลานาน ซึ่งผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคเรื้อรังมักจะไวและเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมแดดได้ง่าย
ทั้งนี้เรื่องของการอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนจัดแล้ว ยังมีสาเหตุที่เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดโรคลมแดดได้ง่ายขึ้น เช่น
- ดื่มน้ำน้อย ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำ
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งไปรบกวนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย
- การสวมเสื้อผ้าที่หนาไม่ระบายอากาศ ทำให้เหงื่อระบายได้ยาก ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายยิ่งสูงขึ้น
- อยู่ในที่อากาศไม่ถ่ายเท ไม่มีแรงลม ไม่สามารถพัดความร้อนได้
อาการของโรคลมแดด (Heat Stroke)
- ตัวร้อน อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส
- มีความรู้สึกสับสนเฉียบพลัน ลุกลี้ลุกลน พูดจามึนงง เพ้อ
- ต่อมเหงื่อทำงานผิดปกติ อยู่ในสถานที่ร้อนจัดแต่ไม่มีเหงื่อออก
- ผิวหนังแห้ง ร้อน แดง
- ความดันโลหิตลดลง กระหายน้ำมาก
- ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ หายใจเร็ว หอบถี่ ใจสั่น เหนื่อย
- คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย
- อาจถึงขั้นรุนแรง ชัก เกร็ง หมดสติ
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

หากพบเจอผู้ที่มีอาการหรือสงสัยว่าตัวเองอาจมีภาวะที่คล้ายจะเป็นโรคลมแดด (Heat Stroke) กรณียังรู้สึกตัวที่ปกติดี ให้รีบเข้าที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่โดนแสงแดด หรือสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ รีบลดอุณหภูมิร่างกายโดยการใช้เช็ดหรือราดตัวด้วยน้ำเย็น หรือผ้าห่อน้ำแข็ง เช็ดเน้นบริเวณหลังคอ ข้อพับ เป่าพัดลมหรือพัดเพื่อให้ร่างกายคลายความร้อน ดื่มน้ำเปล่าและน้ำเกลือแร่เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำและสูญเสียเกลือแร่ และรีบน้ำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
และกรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวหรือหมดสติไป ให้คลำชีพจรเพื่อเช็กการหายใจ หากการหายใจผิดปกติต้องรีบทำ CPR และรีบโทร 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาลมารับผู้ป่วยหรือรีบนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
กลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นโรคลมแดด (Heat Stroke)
- เด็กเล็กและผู้สูงอายุ กลุ่มนี้มีระบบประสาทและการควบคุมอุณหภูมิในร่างกายไม่สมบูรณ์เท่าวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่
- ผู้ที่มีโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคบิด โรคอ้วน โรคพาร์กินสัน มักจะมีภาวะการควบคุมอุณหภูมิที่ผิดปกติจากการใช้ยารักษาโรค
- ผู้ที่ทำงานหรือกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานาน เช่น ออกกำลังกาย วิ่งมาราธอน เล่นฟุตบอล การฝึกทหาร คนงานก่อสร้าง เกษตรกร
- ผู้ที่สัมผัสอากาศร้อนหรือแสงแดดอย่างเฉียบพลัน โดยเฉพาะในผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับสภาพอากาศร้อน
- ผู้ที่ทานยาบางชนิด เช่น ยาที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว ยารักษาความดัน (Beta-Blockers) ยาขับปัสสาวะ ยาต้านเศร้า หรือยาสำหรับผู้ที่มีสมาธิสั้น
- ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลมแดด (Heat Stroke)
วิธีป้องกันจากโรคลมแดด (Heat Stroke)
- ดื่มหรือจิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อเติมความชุ่มชื้นและลดอุณหภูมิในร่างกาย ถึงแม้จะไม่กระหายน้ำก็ตาม
- สวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่ง เบาสบาย ไม่หนา ระบายความร้อนและป้องกันแสงแดดได้
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรืออยู่ในที่ที่มีสภาพอากาศร้อนจัด
- เด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ไม่ควรอยู่ตามลำพังในที่ที่มีอากาศร้อน
- ผู้ที่ออกกำลังกายแนะนำควรเลือกช่วงเวลาที่มีอากาศไม่ร้อนมาก และออกกำลังกายในที่ที่มีอากาศถ่ายเท
- ในช่วงวันที่มีอากาศร้อนจัด ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และเครื่องดื่มน้ำตาลสูง
- หากจำเป็นต้องออกไปข้างนอกในวันที่มีแดดร้อนจัด ควรสวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง กางร่มกันแดด หรือสวมเสื้อผ้ากันแสงแดด (เสื้อที่ทำมาเพื่อกันแสง UV)
- ผู้ที่มีประวัติเคยเป็นโรคลมแดด ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ หากมีอาการผิดปกติ ขอให้รีบพบแพทย์ทันที
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :
Rama Chanel
Medpark Hospital
โรงพยาบาลพญาไท