แชร์

"โพรไบโอติกส์" จุลินทรีย์สุดปังแห่งปีของคนรักสุขภาพ

อัพเดทล่าสุด: 16 ธ.ค. 2024
22 ผู้เข้าชม

ตลอดทั้งปีที่ผ่านมานี้หลายคนคงจะเคยได้ยินหรือได้เห็นคอนเทนต์ของเหล่าคุณหมอ เภสัช และอินฟลูเอนเซอร์สายสุขภาพที่เกี่ยวกับการพูดถึง โพรไบโอติกส์ ตามโซเชียลอย่างมากมาย ซึ่งบอกได้เลยว่าเป็นกระแสที่ทำให้คนเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น วันนี้เราเลยจะพาไปทำความรู้จักความสำคัญและประโยชน์ของเจ้าโพรไบโอติกส์นี้กันค่ะ


โพรไบโอติกส์คืออะไร ?


โพรไบโอติกส์ (Probiotics) คือ จุลินทรีย์ขนาดเล็กชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในร่างกายมนุษย์ สามารถพบได้ในระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ ช่องปาก ผิวหนัง ระบบทางเดินปัสสาวะ และมดลูก เป็นต้น ซึ่งโพรไบโอติกส์จัดอยู่ในกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดดีที่มีประโยชน์และเป็นมิตรกับร่างกายอย่างมาก โดยเฉพาะในระบบทางเดินอาหารที่สามารถช่วยกระตุ้นให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างสมดุลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การย่อยและดูดซึมอาหาร ต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์ร้ายชนิดก่อโรค ช่วยให้ลำไส้แข็งแรง เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรค สังเคราะห์วิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย และยังช่วยรักษาภาวะที่ผิดปกติของร่างกายได้อีกด้วย

จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ในร่างกายมนุษย์มีอยู่หลากหลายประเภท สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้

1. แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) จะพบมากที่สุดในกลุ่มโพรไบโอติกส์ เป็นกลุ่มเชื้อแบคทีเรียที่ดีเกาะติดลำไส้ ซึ่งมีประโยชน์ต่อระบบขับถ่าย ต่อต้านแบคทีเรียร้าย ปรับสมดุลลำไส้ และช่วยลดอาการท้องเสีย เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถย่อยแลคโตสในนมได้ อาหารที่พบแลคโตบาซิลลัส เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต อาหารหมักดอง

2. บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) เป็นกลุ่มเชื้อแบคทีเรียหนึ่งในกลุ่มโพรไบโอติกส์ที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุด จากงานวิจัยพบว่าช่วยผลิตสารตั้งต้นของภูมิต้านทานได้ จะพบได้ในอาหารที่ทำมาจากนม ช่วยบรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน ลดอาการท้องผูก ปรับสมดุลลำไส้ได้เช่นกัน

3. แซคคาโรไมซิส (Saccharomyces Boulardii) เป็นกลุ่มเชื้อยีสต์ในกลุ่มโพรไบโอติกส์ที่ไม่มีอยู่ในร่างกายมนุษย์ตามธรรมชาติ สามารถช่วยบรรเทาอาการท้องเสียและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทางเดินอาหาร

นอกจากนี้หลายคนน่าจะเคยได้ยินถึง พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ซึ่งก็คือกลุ่มอาหารที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายและดูดซึมได้ แต่สามารถย่อยสลายได้โดยโพรไบโอติกส์ เข้าใจโดยง่ายคือ พรีไบโอติกส์เป็นอาหารของโพรไบโอติกส์ มีส่วนช่วยส่งเสริมฤทธิ์และการเจริญเติบโตของโพรไบโอติกส์ให้ทำงานดียิ่งขึ้น พรีไบโอติกส์สามารถพบได้ใน หัวหอม กระเทียม ถั่วเหลือง ถั่วแดง ไฟเบอร์จากผักผลไม้ เป็นต้น   


7 ประโยชน์ของโพรไบโอติกส์


1. กระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย

โพรไบโอติกส์มีส่วนช่วยทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวมีความแข็งแรงมากขึ้น ซึ่งเซลล์เม็ดเลือดขาวถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน ทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรค แบคทีเรีย ไวรัส หรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย มีส่วนช่วยลดการติดเชื้อในส่วนต่าง ๆ ของระบบร่างกาย เช่น ลดอาการภูมิแพ้ มีน้ำมูก หอบหืด ลดการติดเชื้อในส่วนอื่น ๆ เช่น ปอด ลำไส้ กระแสเลือด เป็นต้น


2. ช่วยให้ระบบทางเดินปัสสาวะดีขึ้น

แลคโตบาซิลลัสในกลุ่มของโพรไบโอติกส์สามารถช่วยลดการสะสมของแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคปัสสาวะอักเสบได้ รวมไปถึงการช่วยปรับค่า pH ที่เหมาะสมในช่องคลอดผู้หญิง ป้องกันภาวะติดเชื้อในช่องคลอด ช่องคลอดแห้งหลังหมดประจำเดือน และลดการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ


3. สร้างสมดุลให้ระบบทางเดินอาหาร

แลคโตบาซิลลัสในกลุ่มของโพรไบโอติกส์สามารถช่วยปรับสภาพระบบทางเดินอาหารให้กลับมาสู่สภาวะปกติได้ สร้างสมดุลให้ระบบย่อยอาหารเพื่อการขับถ่ายและสุขภาพลำไส้ที่ดี ลดอาการท้องผูก ท้องเสีย ป้องกันและส่งเสริมการรักษาโรคกระเพาะ กรดไหลย้อน และโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังได้


4. ช่วยปรับสมดุลของผิวหนัง

เมื่อร่างกายมีโพรไบโอติกส์ที่เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดี ส่งผลถึงการเพิ่มความแข็งแรงและความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง ลดการเกิดโรคผิวหนัง โรคลมพิษ ผื่นแดงคัน หรือสิวอักเสบเรื้อรังได้


5. ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล

โพรไบโอติกส์สามารถลดระดับคอเลสเตอรอล ไขมันเลว และไตรกลีเซอไรด์ได้ โดยการที่เข้าไปจับกับโมเลกุลของคอเลสเตอรอล ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ดูดซึมได้น้อย ตกตะกอนได้ดี และถูกขับออกมาทางอุจจาระ ช่วยลดการอุดตันไขมันในเส้นเลือดให้อันเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น


6. ส่งเสริมการทำงานของระบบสมอง

โพรไบโอติกส์มีส่วนส่งเสริมสุขภาพลำไส้ และการวิจัยชี้ว่าสุขภาพลำไส้กับสมองมีส่วนเชื่อมต่อกันผ่านระบบประสาทส่วนกลาง ด้วยการหลั่งสารสื่อประสาท (Meurotransmitters) ที่ส่งผลต่ออารมณ์ของร่างกาย ช่วยเสริมสมดุลของอารมณ์ เสริมความจำ ลดความเครียด ลดความกังวล และส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี


7. ลดการก่อเชื้อมะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่พบเจอมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประชากรทั่วโลก โพรไบโอติกส์สามารถช่วยลดสารพิษและการอักเสบในลำไส้ได้ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อฉวยโอกาส และสร้างเกราะป้องกันไม่ใช้เชื้อก่อโรคจับที่เยื่อบุลำไส้ เพราะเชื้อเหล่านั้นมีโอกาสสร้างสารก่อมะเร็งได้


เราสามารถเพิ่มโพรไบโอติกส์ให้กับร่างกายได้อย่างไร ?

เราสามารถรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกส์สูงได้ตามธรรมชาติ เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต คอจเทจชีส ถั่วนัตโตะ ดาร์กช็อกโกแลต ซุปมิโซะ เทมเป้ น้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิล ชาหมักคอมบูชา และอาหารหมักดองอื่น ๆ ซึ่งบางครั้งในแต่ละวันเราอาจได้รับจำนวนโพรไบโอติกส์ไม่เพียงต่อตามที่ร่างกายต้องการ รวมทั้งร่างกายยังสามารถสูญเสียโพรไบโอติกส์ธรรมชาติไปได้จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตได้อีกด้วย เช่น ทานอาหารมีน้ำตาลหรือไขมันสูง การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ และไม่ออกกำลังกาย

ดังนั้น อาหารเสริมโพรไบโอติกส์ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของคนที่ต้องการเสริมโพรไบโอติกส์ให้เพียงพอต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของเครื่องดื่ม แคปซูล ยาเม็ด เยลลี่ ผงละลายน้ำ ที่มีความสะดวกสบายในการพกพาและรับประทาน ซึ่ง ปริมาณจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ที่ควรทานและเหมาะสมต่อวัน คืออย่างต่ำ 10,000 ล้าน CFU หรือตั้งแต่ 10-20 พันล้านตัวต่อวัน (CFU คือ หน่วยที่ใช้ตรวจปริมาณจุลินทรีย์ที่อยู่ในสินค้าและอาหาร เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต หรืออาหารเสริม)


ข้อควรระวัง : การรับประทานโพรไบโอติกส์มากเกินความจำเป็นของร่างกายในแต่ละวัน อาจส่งผลข้างเคียงได้ เช่น เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร มีผื่นคันตามผิวหนัง หรือมีอาการปวดหัวจากสาร (Amines) เป็นต้น หากมีอาการดังกล่าวควรหยุดรับประทานทันที และควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ   





 


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :
โรงพยาบาลสมิติเวช
หมอเจด


บทความที่เกี่ยวข้อง
ผู้สูงอายุกับภาวะเบื่ออาหาร
หลายครอบครัวอาจจะกำลังประสบปัญหาผู้สูงอายุเบื่ออาหาร ทานได้น้อยลง อาหารที่เคยชอบกลับบ่นว่ารสชาติไม่อร่อยถูกปาก หรือไม่ค่อยอยากกินอะไรเลย ซึ่งเป็นปัญหายอดฮิตในครอบครัวที่ต้องดูแลผู้สูงอายุ ทำให้ผู้ดูแลอย่างลูกหลานเกิดความกังวลและกลัดกลุ้มใจอย่างมาก ที่อาจส่งผลถึงสุขภาพร่างกายที่แย่ลง ในบทความนี้ CR Medical Center เราจะพาไปรู้ถึงลักษณะ สาเหตุ และวิธีแก้ไขปัญหาในผู้สูงอายุที่มีภาวะเบื่ออาหารกันค่ะ
18 ธ.ค. 2024
แนะนำวิตามินอาหารเสริมสำหรับหนุ่มสาววัย 30+
เมื่อก้าวเข้าสู่วัยเลข 3 หรือ อายุ 30 ปีขึ้นไปแล้ว ร่างกายจะเริ่มเสื่อมถอยและเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนตอนอายุ 20 วันนี้เรามี Check list มาให้คุณได้ลองสำรวจตัวเองดูว่ากำลังประสบปัญหาเหล่านี้อยู่หรือไม่ พร้อมแนะนำวิตามินอาหารเสริมสำหรับหนุ่มสาววัย 30+ มาฝากกันค่ะ
14 ธ.ค. 2024
10 วิธีโกงอายุ ช่วยชะลอวัย หน้าเด็ก ผิวดี จนคนต้องทัก!
เป็นวิธีง่าย ๆ ที่หากใครเริ่มต้นทำได้เร็ว ก็จะยิ่งช่วยรักษาความเด็กความอ่อนเยาว์ของผิวเอาไว้ได้นานก่อนใคร ว่าแต่จะมีวิธีไหนบ้างไปดูกันเลย !
17 มิ.ย. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy