แชร์

ผู้สูงอายุกับภาวะเบื่ออาหาร

อัพเดทล่าสุด: 18 ธ.ค. 2024
27 ผู้เข้าชม

หลายครอบครัวอาจจะกำลังประสบปัญหาผู้สูงอายุเบื่ออาหาร ทานได้น้อยลง อาหารที่เคยชอบกลับบ่นว่ารสชาติไม่อร่อยถูกปาก หรือไม่ค่อยอยากกินอะไรเลย ซึ่งเป็นปัญหายอดฮิตในครอบครัวที่ต้องดูแลผู้สูงอายุ ทำให้ผู้ดูแลอย่างลูกหลานเกิดความกังวลและกลัดกลุ้มใจอย่างมาก ที่อาจส่งผลถึงสุขภาพร่างกายที่แย่ลง ในบทความนี้ CR Medical Center เราจะพาไปรู้ถึงลักษณะ สาเหตุ และวิธีแก้ไขปัญหาในผู้สูงอายุที่มีภาวะเบื่ออาหารกันค่ะ


ลักษณะแบบใดคือภาวะเบื่ออาหารในผู้สูงอายุ ?


การเบื่ออาหารสามารถที่จะเกิดขึ้นได้กับผู้สูงอายุทุกคน แต่อาจจะต้องมีการสังเกตถึงพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไปด้วยว่าจริง ๆ แล้วเป็นลักษณะของการ แค่เบื่ออาหาร หรือ ภาวะเบื่ออาหาร หากไม่ค่อยอยากทานอาหารหรือทานได้น้อยลงในช่วงเวลาสั้น ๆ อาจจะคาดว่าเป็นเพียงแค่การเบื่ออาหารเท่านั้น แต่สำหรับภาวะเบื่ออาหารอาจหมายถึงการไม่อยากรับประทานอาหารชนิดใด ถึงแม้จะรู้สึกหิวแต่ก็ไม่อยากทานอะไรเลย รวมไปถึงปฏิเสธการทานอาหารที่เคยชอบ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากสุขภาพทางกายและทางจิตใจร่วมด้วย

หากผู้สูงอายุมีภาวะเบื่ออาหารที่ต่อเนื่องจะ ส่งผลทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร ขาดเกลือแร่และวิตามิน มีภูมิต้านทานต่ำ อ่อนเพลีย ติดเชื้อง่าย ป่วยง่าย น้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 10% ของน้ำหนักตัวภายใน 3 เดือน ซึ่งมีผลต่อสุขภาพโดยรวมในระยะยาวและอาจนำไปสู่ภาวะโภชนาการต่ำ บางรายหากขาดสารอาหารมากก็อาจทำให้เกิดอาการรุนแรง เช่น ตะคริว ซึม หมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเสียชีวิตได้

ซึ่งการจะวินิจฉัยภาวะเบื่ออาหารในผู้สูงอายุนั้นมักจะทำได้ยาก เพราะในแต่ละบุคคลก็มีพฤติกรรมความอยากอาหารที่แตกต่างกันไป ต้องอาศัยการสังเกตของผู้ดูแลหรือบุคคลที่อยู่กับผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด ที่ทำได้โดยง่ายก็คือการซักถามหรือการทำแบบทดสอบ (SNAQ : Simplified Nutritional Appetite Questionnaire) ถึงความอยากอาหารว่ามีมากหรือน้อยอย่างไร รสชาติอาหารเป็นอย่างไร หลังจากเริ่มรับประทานอาหารไปแล้วอิ่มเร็วเพียงใด และจำนวนมื้ออาหารที่รับประทานในแต่ละวัน เป็นต้น

 

สาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร

ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย ฮอร์โมน จิตประสาท หรือภาวะการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ก็ล้วนอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุมีภาวะเบื่ออาหารได้

การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย

  • สุขภาพฟันและเหงือกไม่แข็งแรง ประสิทธิภาพการบดเคี้ยวอาหารลดลง หรือมีอาการเจ็บขณะเคี้ยว ก็จะเลี่ยงรับประทานอาหารบางอย่าง
  • ภาวะน้ำลายแห้ง ในผู้สูงอายุจะมีการผลิตน้ำลายลดลง ส่งผลให้มีปัญหาในการคลุกเคล้าอาหาร กลืนลำบาก ฝืดคอ  และอาจมีอาหารสำลักอาหารหรือน้ำได้บ่อย ๆ จนเบื่อที่ทานอาหาร เพราะกังวลว่าจะเกิดอาการดังกล่าวอีก
  • การรับรสและได้กลิ่นเปลี่ยนแปลงไป อรรถรสในการทานอาหารลดลง ไม่เจริญอาหาร ทำให้รู้สึกทานอาหารไม่อร่อย แม้ว่าจะเป็นเมนูอาหารที่ชอบก็ตาม
  • ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง พบว่าผู้สูงอายุจะใช้ระยะเวลาในการย่อยอาหารมากขึ้น ส่งผลให้อาหารคงค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนาน ทำให้ความอยากอาหารในมื้อต่อไปลดลง ทั้งยังสามารถมีอาการท้องผูกได้ง่าย มีส่วนในการลดความอยากอาหารเช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงทางด้านฮอร์โมน

  • การลดลงของฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) เป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความหิวที่หลั่งมาจากเซลล์กระเพาะอาหารแล้วส่งสัญญาณไปที่สมองเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดความอยากอาหาร ถ้าฮอร์โมนเกรลินลดลง ความอยากอาหารก็ลดลงด้วย
  • การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนคอเลซิสโทไคนิน (Cholecystokinin) และ ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) เป็นฮอร์โมนที่ช่วยระงับความหิวหลั่งออกจากมาเซลล์ในลำไส้เล็ก ทำให้อิ่มเร็วมากขึ้น โดยจะทำให้อาหารเคลื่อนที่ผ่านกระเพาะอาหารช้าลง

ปัญหาการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง

  • ผู้สูงอายุอาจมีปัญหาภาวะทางกายและการเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไตวาย โรคพาร์กินสัน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็ง เพราะโรคเหล่านี้มีการหลั่งสารก่อการอักเสบ
  • ยารักษาโรคมีผลทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนหรือลดความอยากอาหารโดยตรง เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาความดันโลหิตสูง ยาลดไขมัน ยาขับปัสสาวะ ยาไทยรอยด์ ยาขยายหลอดลม ยาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ยาต้านโรคพาร์กินสัน ยาไมเกรน ยานอนหลับ ยาต้านเศร้า ยาโรคจิตเภท ยาแก้อักเสบ และยาฆ่าเชื้อบางชนิด

ความต้องการสารอาหารของร่างกาย

ผู้สูงอายุส่วนมากแล้วจะมีการเคลื่อนไหวร่างกายที่ช้าลง ทำให้มีมวลกล้ามเนื้อที่ลดลง สัดส่วนไขมันเพิ่มขึ้น ทำให้มีแหล่งพลังงานสะสมในร่างกายเพียงพอ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่ค่อยหิว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกิจกรรมในแต่ละวันและพลังงานที่ร่างจำเป็นต้องใช้

การเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตประสาท

ภาวะทางจิตใจในผู้สูงอายุถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อภาวะเบื่ออาหารได้ เช่น ภาวะซึมเศร้า ภาวะสมองเสื่อม การรู้คิดบกพร่อง หรือการที่ผู้สูงอายุต้องประกอบอาหารหรือรับประทานอาหารคนเดียวลำพัง อาจจะส่งผลต่อจิตใจหรือความรู้สึกเหงาและเบื่อที่จะรับประทานอาหาร


วิธีดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะเบื่ออาหาร

เมื่อเราประเมินหรือพอที่จะทราบถึงสาเหตุของการเบื่ออาหารของผู้สูงอายุแล้ว ก็จะสามารถดูแลและป้องกันถึงพฤติกรรมการรับประทานอาหารได้ ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

  • สร้างตารางการรับประทานอาหารให้เป็นเวลาที่แน่นอน เพื่อให้ร่างกายเตรียมพร้อมสำหรับการรับประทานอาหารในแต่จะมื้อ
  • ปรับเมนูอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ ไม่จำเจ ทั้งประเภทต้ม ผัด แกง ทอด ปรับรสชาติในแบบที่ผู้สูงอายุชอบ แต่ควรระมัดระวังไม่ให้มีรสชาติที่จัดจ้านหรือมันเกินไป
  • การปรุงอาหารให้มีกลิ่นหอมขึ้นตามที่ชอบอาจจะช่วยได้ อาจจะพิจารณาเพิ่มเครื่องเทศหรือสมุนไพร เพื่อชูกลิ่นและรสชาติของอาหาร เพิ่มความอยากทานมากขึ้น
  • จัดเตรียมหรือเลือกอาหารที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสาเหตุหรือโรคที่เป็น เช่น หากมีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยวให้เลือกอาหารชิ้นเล็ก รับประทานง่าย เนื้อสัมผัสนิ่ม ละเอียด เป็นต้น
  • เพิ่มความสดชื่นและผ่อนคลายให้ผู้สูงอายุด้วยการจิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในปาก แก้อาการปากแห้งน้ำลายแห้ง เพื่อกระตุ้นให้เกิดความอยากอาหาร เช่น น้ำเปล่าไม่เย็นจัด น้ำใบเตย น้ำขิง เป็นต้น
  • เรียกน้ำย่อยด้วยการรับประทานขนมหวานหรือผลไม้เล็กน้อยก่อนมื้ออาหาร เพื่อกระตุ้นความอยากอาหาร
  • หมั่นตรวจสุขภาพฟัน ช่องปาก และระบบการขับถ่าย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในระบบการย่อยอาหาร เช่น ท้องผูก
  • ควบคุมโรคประจำตัวให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม ลดการเกิดภาวะเบื่ออาหารจากการใช้ยา สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะทางจิตใจบกพร่องหรือซึมเศร้า ควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาโดยแพทย์
  • รับประทานอาหารพร้อมหน้าทั้งครอบครัว หรือพาไปทานอาหารนอกบ้านบ้าง เพื่อสร้างบรรยากาศและความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่ดี ช่วยให้ผู้สูงอายุไม่เหงา ไม่เบื่อ และเจริญอาหารได้ดีขึ้น
  • หากผู้สูงวัยรับประทานอาหารได้น้อยมากจนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและแนะนำอาหารเสริมทดแทน

 

ดูแลภาวะโภชนาการผู้สูงอายุด้วยอาหารสูตรครบถ้วน Ensure Gold

อย่างที่กล่าวข้างต้น ในภาวะเบื่ออาหารของผู้สูงอายุอาจนำไปสู่การขาดสารอาหารและทุพโภชนาการ ดังนั้นการเสริมด้วยอาหารสูตรครบถ้วนไปพร้อม ๆ กับการดูแลด้านโภชนาการจึงมีความจำเป็น เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับพลังงาน โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุที่จำเป็นเพียงพอต่อร่างกายต้องการในแต่ละวัน เพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรง เพียงการดื่มอาหารสูตรครบถ้วนเป็นอาหารเสริม วันละ 2-3 แก้วต่อวัน สามารถใช้เป็นอาหารมื้อหลัก หรือเป็นอาหารมื้อเสริมได้


ประโยชน์อื่น ๆ ของสารอาหารครบถ้วน

  • ช่วยเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อและกระดูกให้แข็งแรง
  • ช่วยเสริมสร้างการทำงานตามปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
  • ช่วยลดโอกาสการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล
  • ช่วยให้ร่างกายแข็งด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ


ภาวะเบื่ออาหารในผู้สูงอายุนั้นถือว่า เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม ผู้ดูแลควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมการรับประทานอาหารว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ค้นหาสาเหตุ และวิธีการแก้ไขในการดูแลการรับประทานอาหารของผู้สูงอายุให้ตรงจุด ทั้งนี้หากยังไม่ดีขึ้นแนะนำให้พาผู้สูงอายุไปพบแพทย์ เพื่อหาแนวทางการรักษาอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตามครอบครัวหรือผู้ดูแลควรมีความเข้าใจและเอาใจใส่ในตัวผู้สูงอายุให้มาก เพื่อที่จะสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหาและดูแลได้อย่างเหมาะสม




 

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : Ensure Gold / โรงพยาบาลสมิติเวช

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
"โพรไบโอติกส์" จุลินทรีย์สุดปังแห่งปีของคนรักสุขภาพ
ทำไมเพิ่งรู้ว่าโพรไบโอติกส์มีประโยชน์ขนาดนี้คะ! เห็นคอนเทนต์ของเหล่าคุณหมอ เภสัช และอินฟลูเอนเซอร์สายสุขภาพพูดถึงโพรไบโอติกส์ตามโซเชียลกันเยอะมาก แค่จุลินทรีย์ตัวเดียวมันจึ้งขนาดนี้เลยหรอ เริ่ดเกินคุณน้าาาาาา
16 ธ.ค. 2024
แนะนำวิตามินอาหารเสริมสำหรับหนุ่มสาววัย 30+
เมื่อก้าวเข้าสู่วัยเลข 3 หรือ อายุ 30 ปีขึ้นไปแล้ว ร่างกายจะเริ่มเสื่อมถอยและเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนตอนอายุ 20 วันนี้เรามี Check list มาให้คุณได้ลองสำรวจตัวเองดูว่ากำลังประสบปัญหาเหล่านี้อยู่หรือไม่ พร้อมแนะนำวิตามินอาหารเสริมสำหรับหนุ่มสาววัย 30+ มาฝากกันค่ะ
14 ธ.ค. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy