8 อุปกรณ์พื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุที่ควรมีติดบ้านไว้
การดูแลผู้สูงอายุในบ้านนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญและใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการมองหาอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่จะมีบทบาทสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ ที่จะใช้ดูแลตัวเองในกิจวัตรประจำวันนั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน ตลอดจนยังช่วยผ่อนแรงให้แก่ผู้ดูแลได้อีกด้วย ดังนั้นการเตรียมความพร้อมเอาไว้อยู่เสมอจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด วันนี้เรามี 8 อุปกรณ์พื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุที่ควรมีติดบ้าน มาแนะนำกัน จะมีอะไรบ้างนั้นไปดูกันเลย
1. เครื่องวัดความดันโลหิต
ระดับความดันโลหิตที่ผิดปกติอาจส่งผลให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เครื่องวัดความดันโลหิตจึงมีความจำเป็นอย่างมากโดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง ช่วยให้ทราบผลค่าความดันที่แท้จริงในแต่ละวันได้ เพื่อที่จะสามารถประเมินและควบคุมความดันโลหิตของตนเองได้เบื้องต้น
อ่านบทความเพิ่มเติม : 5 เหตุผลที่ต้องมีเครื่องวัดความดันไว้ใช้ที่บ้าน
2. เครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด
โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเบาหวาน หรือผู้ที่แพทย์วินิจฉัยว่ามีความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวานในอนาคตได้ ควรที่จะทำการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทราบผลระดับน้ำตาลในเลือดว่ามีความปกติหรือไม่ปกติ และเพื่อการควบคุมร่างกายไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป
อ่านบทความเพิ่มเติม : ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง จุดเริ่มต้น โรคเบาหวาน
3. ปรอทวัดไข้
ร่างกายของผู้สูงอายุอาจจะไม่แสดงอาการเหมือนคนหนุ่มสาว อาการมีไข้ในผู้สูงอายุจึงถูกจัดว่าเป็นกลุ่มที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว หากไม่ติดตามการวัดระดับไข้ที่เกิดขึ้น อาจทำไปสูงอาการมีไข้สูงรุนแรงหรืออาจเกิดโรคและภาวะแทรกซ้อน ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
4. อุปกรณ์ช่วยเดิน/ รถเข็นวีลแชร์
อุปกรณ์ช่วยเดินจะช่วยพยุงเพื่อปรับปรุงรูปแบบการเดินและการเคลื่อนให้สะดวกขึ้น สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาหรือภาวะการเดินไม่ปกติ เช่น ไม้ค้ำยัน ไม้เท้า โครงเหล็กช่วยเดิน ตลอดจนผู้สูงอายุที่ไม่สามารถทรงตัวได้ เดินไม่คล่อง หรือไม่สามารถเดินได้เลย รถเข็นวีลแชร์ก็มีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องเตรียมพร้อมไว้ที่บ้าน
อ่านบทความเพิ่มเติม : อุปกรณ์ช่วยเดินมีอะไรบ้าง ? เหมาะกับผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุแบบใด
5. เก้าอี้นั่งถ่าย/ เก้าอี้อาบน้ำ
ในผู้สูงอายุบางรายมีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหวหรืออาจจะช่วยเหลือตัวเองได้ลำบากมากขึ้น การมีเก้านั่งถ่ายหรือเก้าอี้อาบน้ำมาเป็นไอเทมในการช่วยเหลือนับว่าเป็นสิ่งที่ควรมีไว้ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อการทำธุระส่วนตัวได้อย่างสะดวก สามารถประคองหรือขยับตัวขณะใช้งานได้อย่างเต็มที่ ช่วยส่งเสริมเรื่องสุขอนามัย และยังช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุในห้องน้ำอีกด้วย
6. กระโถนหรือกระบอกปัสสาวะ
กระโถนหรือกระบอกปัสสาวะ เป็นอุปกรณ์ที่ไม่ควรมองข้ามและควรที่จะมีติดบ้านเอาไว้สำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เพราะจะช่วยในกรณีที่ผู้สูงอายุปวดปัสสาวะหรืออุจจาระฉุกเฉิน หรือไม่สามารถลุกไปเข้าห้องน้ำได้ทันท่วงที
7. เตียงผู้สูงอายุ/ ที่นอนลม
ผู้สูงอายุมักจะมีอาการปวดเมื่อยตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น คอ บ่า ไหล่ หลัง สะโพก ซึ่งอาจจะส่งผลให้นอนไม่หลับหรือคุณภาพการนอนย่ำแย่ลง เตียงสำหรับผู้สูงอายุหรือเตียงผู้ป่วย จะถูกออกแบบมาเพื่อการนอนหลับพักผ่อนโดยเฉพาะ เพื่อส่งเสริมการนอนหลับ การเคลื่อนไหว ตลอดจนการหายใจขณะนอนหลับให้ดีขึ้นได้ หรือการมองหาที่นอนลมให้แก่ผู้สูงอายุที่ป่วยมีแผลกดทับก็มีความจำเป็นไม่น้อย
8. ยาสามัญประจำบ้าน
ยาสามัญประจำบ้านเป็นสิ่งที่ทุกบ้านควรมีติดไว้ ไม่เฉพาะแต่จะได้ใช้สำหรับผู้สูงอายุเท่านั้น ทุกคนในบ้านก็อาจจะมีความจำเป็นได้ใช้งานเช่นกัน เพราะจะเป็นการบรรเทาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยได้ด้วยตนเองยามฉุกเฉิน เช่น กลุ่มยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้แพ้ ยาแก้ปวดท้อง ยาทาผิวหนัง ยาดมหรือยาทาแก้วิงเวียน ยาใส่แผล แอลกอฮอล์ น้ำเกลือล้างแผล ปลาสเตอร์ยา ผ้าก๊อซ เทปปิดแผล เป็นต้น ทั้งนี้สำหรับการทานยาสามัญต่าง ๆ ในผู้สูงอายุ ควรคำนึงถึงโรคที่ทานยาประจำตัวอยู่ด้วย แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์ก่อนทาน
สรุป
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงคำแนะนำที่อาจจะช่วยให้ผู้ดูแลผู้สูงอายุได้เก็บไว้พิจารณาถึงความจำเป็นในอนาคต อาจจะมีอุปกรณ์เพิ่มเติมหรือมากกว่านี้ก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้งานผู้สูงอายุแต่ละราย นอกจากผู้ดูแลจะจัดเตรียมและมองหาอุปกรณ์จำเป็นเหล่านี้ให้เพียบพร้อมแล้ว อย่าลืมที่จะหาเวลาและทุ่มเทเวลาในการดูแลผู้สูงอายุหรือคนที่คุณรักอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน