รีบเช็กด่วน! สัญญาณเตือน "อัมพฤกษ์ อัมพาต"
อัมพฤกษ์ อัมพาต คืออะไร ?
อัมพฤกษ์ อัมพาต (Cerebrovascular Accident : CVA) เป็นอาการของโรคเกี่ยวกับสมองที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง โดยอาจจะมีสาเหตุมาจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยง หรือ เลือดออกในสมอง
สมองขาดเลือด (Acute ischenic strok)
- หลอดเลือดที่เลี้ยงสมองเกิดการแข็งตัวและค่อย ๆ ตีบและอุดตันในที่สุด
- มีไขมันหรือลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดในสมอง
- ความดันเลือดต่ำจนไปเลี้ยงสมองไม่พอ
- ภาวะเลือดออกในสมอง อาจเริ่มจากมีความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานาน ๆ จนเกิดหลอดเลือดในสมองแตก
- ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง เกิดจากหลอดเลือดโป่งพองที่ฐานสมองแตก ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดสมองขนาดเล็ก ผนังหลอดเลือดโป่งพองและแตกในที่สุด
ซึ่งหากสมองได้รับความเสียหายดังกล่าวก็จะทำให้การควบคุมกล้ามเนื้อและการทำงานของร่างกายในส่วนต่าง ๆ บกพร่อง ส่งผลกระทบต่อการรับรู้ การพูด การเดิน และการควบคุมอวัยวะภายใน มีความเสี่ยงที่จะพิการและเสียชีวิตได้
อัมพฤกษ์ อัมพาต แตกต่างกันหรือไม่ ?
ถึงแม้ว่า อัมพฤกษ์ อัมพาต จะมีสาเหตุของการเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองที่เหมือนกัน แต่แท้จริงแล้วแตกต่างกัน
อัมพฤกษ์ คือ เกิดจากเซลล์สมองถูกทำลายบางส่วน ส่งผลให้เกิดภาวะแขนขาอ่อนแรง แต่ยังพอใช้งานได้ รู้สึกชาตามอวัยวะบางครั้ง ตาพร่ามัว หงุดหงิดง่าย สูญเสียความทรงจำ การคำนวณหรือความสามารถในการตัดสินใจลดลง
อัมพาต คือ เกิดจากเซลล์สมองถูกทำลายถาวร แขนขาไม่สามารถขยับได้เลย ไม่มีแรง ใช้งานไม่ได้ พูดไม่ได้ หนังตาตก ปากเบี้ยว และตอบสนองช้า
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต
- โรคประจำตัว โรคที่เสี่ยงต่อการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดสมอง อุดตัน เปราะ และแตกได้เร็วขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง
- ภาวะอ้วน เพิ่มโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้ง่าย เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
- ขาดการออกกำลัง ส่งผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เสี่ยงเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
- สูบบุหรี่ สารในบุหรี่ส่งผลทำให้หลอดเลือดแข็งหรือบางลงได้ เสี่ยงหลอดเลือดเปราะและแตกง่าย
- อายุ อายุที่มากขึ้นหลอดเลือดสมองก็เสื่อมสภาพไปตามธรรมชาติ เกิดคราบไขมันอุดตัน มีความยืดหยุ่นน้อย ส่งผลการไหลเวียนของเลือดไปที่เลี้ยงสมอง
BEFAST สัญญาณเตือนอัมพฤกษ์ อัมพาต
B-E-F-A-S-T เป็นเทคนิคที่ช่วยในการจดจำเพื่อเช็กอาการแสดงของโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างง่าย หากเราเช็กอาการได้จะสามารถรู้ทันอาการตัวเอง รวมทั้งยังสามารถช่วยนำผู้ป่วยที่มีอาการส่งโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มโอกาสการฟื้นตัวและลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนได้
- B - Balance (การทรงตัว) วิงเวียนหรือปวดศีรษะรุนแรง เสียการทรงตัว เดินเซอย่างกะทันหัน
- E - Eyes (การมองเห็น) ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน มองไม่ชัด หรือมองไม่เห็นอย่างฉับพลัน
- F - Face (ใบหน้า) หน้าเบี้ยว มุมปากตก ให้ลองยิ้มสังเกตมุมปากจะยกไม่เท่ากัน
- A - Arms (แขน) แขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรงหรือยกไม่ขึ้น หรือมีอาการชาขึ้นฉับพลัน
- S - Speech (การพูด) พูดไม่ชัด พูดติดขัด หรือพูดไม่ได้ และอาจไม่เข้าใจในสิ่งที่คนอื่นพูด
- T - Time (เวลา) สำคัญที่สุดเมื่อพบอาการข้างต้นอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันทีเพื่อได้รับการรักษาทันทีภายใน 4.50 ชั่วโมงแรก หากล่าช้าสมองอาจได้รับความเสียหายถาวร
แนวทางการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต
ตรวจสุขภาพประจำปี
การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะช่วยให้เราเฝ้าระวังและควบคุมปัจจัยเสี่ยง เช่น ระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และระดับไขมัน หากพบความผิดปกติจะช่วยให้รักษาได้ทันท่วงที ลดโอกาสที่นำไปสู่การเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
ลดการรับประทานน้ำตาล
อาหารและเครื่องดื่มบางอย่างมีส่วนประกอบของน้ำตาลสูง สามารถส่งผลให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้ เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและโรคอ้วนที่เป็นปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
ออกกำลังกายเป็นประจำ
ช่วยเสริมการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ควบคุมน้ำหนัก และลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวควรขอคำแนะนำในการออกกำลังการที่เหมาะสมจากแพทย์
ทานอาหารที่มีประโยชน์
ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพิ่มอาหารที่มีกากใยสูง ลดการทานอาหารประเภททอดหรือเนื้อสัตว์มีไขมันอิ่มตัวสูง เพิ่มการทานสารอาหารที่มีกรดไขมัน Omega-3 สูง เช่น ปลาทูน่า ปลาแซลมอน
งดการสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง นำไปสู่การเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต
หาตัวช่วยในการดูแลสุขภาพ
โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตสูง ควรตรวจวัดความดันสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวันด้วย เครื่องวัดความดันที่สามารถวัดได้ด้วยตัวเองที่บ้าน และ เครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อทราบถึงค่าความดันและค่าน้ำตาลได้ในแต่ละวันที่แท้จริง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการควบคุมโรคประจำตัวให้อยู่ในความเหมาะสม ลดความเสี่ยงการเกิดโรคภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้
อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นสิ่งที่ไม่ควรนิ่งนอนใจเพราะมีความเสี่ยงที่จะพิการและเสียชีวิตได้ แต่เราสามารถป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงได้ด้วยการหันมาดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การทานอาหาร การออกกำลังกาย และการเลือกลงทุนกับอุปกรณ์ตัวช่วยที่มีประโยชน์สูงสุดในการดูแลสุขภาพของเราและครอบครัว
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : โรงพยาบาลพญาไท / โรงพยาบาลรามาธิบดี / โรงพยาบาลสินแพทย์ / ศูนย์ดูแลผู้ป่วยอายุวัฒน์