แชร์

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง จุดเริ่มต้น "โรคเบาหวาน"

อัพเดทล่าสุด: 19 ธ.ค. 2024
19 ผู้เข้าชม

ไปหาหมอแล้วเจาะเลือดออกมาพบว่า น้ำตาลในเลือดสูงปี๊ดดด! บางคนไม่เข้าใจว่าสูงได้ยังไง? ทำไมถึงสูง? การใช้ชีวิตก็ดูปกติไม่มีอาการเจ็บป่วยอะไร บอกเลยว่าแบบนี้แหละที่น่ากลัว! เพราะคุณอาจเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานในอนาคตได้ ในบทความนี้ CR Mediacal Center จะพาไปรู้ถึงสาเหตุและวิธีป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกันค่ะ


ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงคืออะไร ?


น้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เมื่อตรวจวัดหลังจากอดอาหารมาแล้ว 8-10 ชั่วโมง มีค่าสูงเกินกว่า 100 มก./ ดล. (มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) และหากตรวจวัดหลังมื้ออาหาร 2 ชั่วโมง มีค่าสูงเกินกว่า 140 มก./ ดล. ซึ่งหากปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเช่นนี้ ไม่มีการควบคุมหรือทำการรักษา ก็จะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวานในอนาคตได้

  • ระดับน้ำตาลในเลือดที่ ปกติ และ ไม่ปกติ
  • ระดับปกติ : ค่าระดับน้ำตาลอยู่ระหว่าง 70-100 มก./ ดล.
  • ระดับมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน : 100-125 มก./ ดล.
  • ระดับเป็นโรคเบาหวาน : ค่าระดับน้ำตาลมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มก/ ดล.


สาเหตุของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

ปกติแล้วหลังจากเมื่อเรารับประทานอาหารเสร็จ ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อนเพื่อทำหน้าที่นำน้ำตาลในเลือดไปเผาผลาญสร้างเป็นพลังให้กับเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อ มีส่วนช่วยควบคุมให้ร่างกายรักษาระดับน้ำตาลให้เป็นปกติ แต่หากว่า ตับอ่อนหลั่งฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยหรือเกิดภาวะดื้ออินซูลิน น้ำตาลก็จะตกค้างในกระแสเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ส่งผลให้เป็นโรคเบาหวานได้นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน โดยอาจมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือโรคบางอย่าง เช่น

  • การรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป ในระยะเวลาสั้น ๆ อาจทำให้ตับอ่อนหลั่งฮอร์โมนอินซูลินไม่ทัน
  • ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลที่สะสมอยู่ออกมาใช้เป็นพลังงานได้ เพราะขาดการออกกำลังกาย
  • โรคเครียด หรือมีภาวะเครียดสะสมตลอดเวลา ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล กระตุ้นให้ร่างกายปล่อยน้ำตาลออกมาฉับพลัน ยิ่งเครียดมาก น้ำตาลในเลือดก็ยิ่งสูงตาม
  • เป็นโรคเกี่ยวกับตับอ่อน ที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้
  • การได้รับประทานยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ ยากดภูมิต้านทาน
  • ร่างกายมีไข้หรือมีอาการติดเชื้อ

วิธีสังเกตตัวเองว่ามีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือไม่

  • หิวน้ำบ่อย
  • ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน
  • รู้สึกหิวแม้จะเพิ่งกินไป
  • ปวดหัว
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยหอบง่าย
  • สายตาพร่ามัว มองไม่ชัด

แน่นอนว่าภาวะน้ำตาลสูงในบางราย บางทีอาจไม่ได้แสดงอาการเหล่านี้ให้เห็นเสมอไป สิ่งที่จะช่วยบอกถึงภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้ คือ การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ  ซึ่งถ้าปล่อยไว้ไม่ใส่ใจหรือไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ร่างกายจะไม่สามารถเผาผลาญน้ำตาลได้ ตับจะเผาผลาญไขมันมาเป็นพลังงานแทน เกิดภาวะเลือดเป็นกรด ส่งผลให้อาการจะรุนแรงขึ้นกว่าเดิม เช่น น้ำหนักตัวลด คลื่นไส้อาเจียน ผิวแห้งปากแห้ง ติดเชื้อง่าย แผลหายช้า บางรายอาจมีอาการรุนแรง มึนงง สับสน และหมดสติได้ 


วิธีแก้ไขและป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงนั้นสามารถแก้ไข ป้องกัน และรักษาได้ โดยต้องพิจารณาจากสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงและความเสี่ยงที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล

1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทานอาหารและดื่มน้ำให้เพียงพอ


ควรปรับลดการบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เพราะท้ายที่สุดร่างกายจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาล ร่วมกับควรที่จะดื่มน้ำให้มากขึ้นหรือให้เพียงพอในแต่ละวัน เพราะน้ำจะช่วยขับน้ำตาลออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะได้ดียิ่งขึ้น หรืออาจจะขอคำปรึกษาจากนักโภชนาการหรือแพทย์

2. ออกกำลังกายเป็นประจำ


การออกกำลังกายเป็นประจำช่วยเพิ่มการใช้พลังงานในร่างกาย ส่งผลให้น้ำตาลที่สะสมถูกเผาผลาญและนำออกมาใช้ แต่สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ในการเลือกประเภทของการออกกำลังกาย

3. ควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

วิธีการที่จะช่วยให้เราควบคุมน้ำตาลในเลือดให้ไม่มีอาการแย่ลง คือ การจดบันทึกและตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ ด้วย เครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด ที่สามารถตรวจได้เอง ใช้งานง่าย และแม่นยำ เพื่อเช็กและเฝ้าระวังความผิดปกติของร่างกาย และช่วยให้แพทย์ติดตามการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

4. เปลี่ยนชนิดของยา


ปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอาจจะเกิดจากโรคและการรับประทานยาบางชนิด ที่ส่งผลกระทบต่อการบกพร่องของฮอร์โมนอินซูลินและมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด การเปลี่ยนยานั้นก็เพื่อลดผลข้างเคียงและเสี่ยงด้านสุขภาพ และสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้นควรรับประทานยาตามแพทย์สั่ง และไปพบแพทย์เป็นประจำ


จะเห็นได้ว่าภาวะน้ำตาลในเลือดสูงนั้นเป็นสิ่งที่ควรระมัดระวังในชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยเฉพาะสาเหตุที่เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตสูง รวมทั้งขาดการออกกำลังกาย ในบางรายอาจจะไม่มีการแสดงอาการความผิดปกติแต่อย่างใด แต่เมื่อตรวจวัดผลออกมาแล้วกลับมีค่าน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่ง เสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานหรือบางทีอาจจะมีภาวะการเป็นโรคเบาหวานโดยไม่รู้ตัว แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงก็สามารถที่จะทำการรักษาและป้องกันได้ไม่ยาก การตรวจวัดระดับน้ำตาลด้วย เครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด เป็นประจำ จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันความรุนแรงของโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ในอนาคตได้





ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : โรงพยาบาลเปาโล / โรงพยาบาลสมิติเวช



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy