แชร์

ทำไม? ความดันสูงทุกทีที่ไปโรงพยาบาล แต่วัดที่บ้านแล้วปกติ

อัพเดทล่าสุด: 10 ธ.ค. 2024
40 ผู้เข้าชม

ก่อนการเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาโรคหรืออาการต่าง ๆ นั้น ทุกครั้งจะต้องมี การวัดความดันโลหิต ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นที่สำคัญมาก เพราะเนื่องจากสามารถใช้ในการประเมินสัญญาณชีพผู้ป่วยเบื้องต้น หรือบ่งบอกถึงความผิดปกติของร่างกายได้ แต่หลายคนอาจเคยเจอปัญหาค่าความดันโลหิตสูงทุกครั้งที่ไปหาหมอ แต่เมื่อวัดเองที่บ้านแล้วค่าความดันโลหิตกลับปกติ บางรายอาจตรวจพบได้ว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงจริง ๆ แต่บางรายอาจเป็นเพียงแค่ภาวะที่เรียกว่า White Coat Hypertension

White Coat Hypertension คืออะไร ?

White Coat Hypertension คือ ภาวะความดันโลหิตสูงกว่าปกติ (สูงกว่า 140/ 90 มม.ปรอท) เมื่อต้องพบเจอบุคลากรทางการแพทย์ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า อาการกลัวชุดขาว ของแพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ มักพบในคนไข้ประมาณ 30-40% โดยจะมีค่าความดันโลหิตสูงเฉพาะวัดที่โรงพยาบาลหรือนอกสถานที่เท่านั้น แต่เมื่อวัดที่บ้านโดยเฉลี่ยในการวัดทุกช่วงเวลาแล้วจะมีค่าความดันโลหิตที่ปกติ (น้อยกว่า 135/ 85 มม.ปรอท)



สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะ White Coat Hypertension

ส่วนใหญ่แล้วอาจเกิดจากความกลัวเมื่อต้องมาโรงพยาบาล เช่น กลัวหมอ กลัวเข็ม กลัวเครื่องมือแพทย์ กลัวโดนตำหนิ เป็นต้น ทำให้เกิดภาวะความเครียด วิตกกังวล กดดัน ตื่นเต้น ซึ่งจะทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นและสูบฉีดเลือดมากกว่าปกติ ส่งผลให้ความดันโลหิตยิ่งสูงขึ้น รวมถึงสาเหตุอื่น ๆ เช่น อาจเหนื่อยจากการเดินทาง หรือไม่คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลที่มีคนพลุกพล่าน แออัด เสียงพูดคุยดังจอแจ หรือต้องนั่งรอคิวพบแพทย์เป็นเวลานาน จนอาจทำให้เกิดความเครียดโดยที่ไม่รู้ตัว



White Coat Hypertension อันตรายไหม ?

โดยทั่วไปแล้ว ไม่อันตราย เป็นเพียงอาการที่เกิดจากปัจจัยกระตุ้นต่าง  ๆ ตามที่กล่าวมา ยกเว้นกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น คนไข้ที่มีมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีโรคเบาหวาน โรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น อย่างไรก็ตามแพทย์มักจะแนะนำให้วัดความดันโลหิตเองที่บ้านควบคู่ไปกับการวัดที่โรงพยาบาล เพื่อเฝ้าระวังและให้ได้ค่าความดันโลหิตที่ถูกต้อง เพราะ ผู้ที่มีภาวะ White Coat Hypertension มีโอกาสในการเป็นโรคความดันโลหิตสูงจริง ๆ มากกว่าคนที่มีความดันปกติทั่วไป 3-4 เท่า

White Coat Hypertension จำเป็นต้องรักษาหรือไม่ ?

หากแพทย์วินิจฉัยได้ข้อสรุปแล้วว่า คนไข้มีภาวะ White Coat Hypertension ไม่ใช่การตรวจพบว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงจริง ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องมีการรักษาหรือจ่ายยาลดความดันใด ๆ เพราะถ้าหากผู้ที่มีภาวะ White Coat Hypertension ที่มีค่าความดันที่บ้านปกติ เมื่อได้รับยาลดความดันอาจจะได้ผลข้างเคียง เช่น ความดันต่ำ หน้ามืด เป็นลมได้

ดังนั้น วิธีที่จะสามารถช่วยให้คุณตรวจสอบเบื้องต้นได้ว่าคุณมีภาวะ  White Coat Hypertension หรือไม่ แนะนำว่าคุณจะต้องมีเครื่องวัดความดันโลหิตที่ได้มาตรฐานวัดผลได้แม่นยำติดบ้านไว้  ให้ทำการวัดตามช่วงเวลาที่แพทย์แนะนำแล้วจดบันทึกค่าความดันไว้  4-7 วัน ก่อนพบแพทย์ แล้วนำค่าความดันนั้นให้แพทย์นำไปประกอบการวินิจฉัยเพื่อหาข้อสรุป

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งภาวะในทางตรงกันข้ามที่มักพบบ่อยเช่นกัน คือ Masked Hypertension หรือ ความดันโลหิตสูงซ่อนแอบ ภาวะความดันโลหิตปกติเมื่อวัดที่โรงพยาบาล (น้อยกว่า 140/ 90 มม.ปรอท) แต่เมื่อวัดที่บ้านกลับมีค่าความดันโลหิตสูง (สูงกว่า 135/ 85 มม.ปรอท) ภาวะนี้มักพบในเพศชายที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ กลุ่มคนทำงานที่มีความเครียดสูง หรือพบในผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง

ผู้ที่มีภาวะ Masked Hypertension ถือว่าเป็นอันตราย เพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดในสมองและหัวใจได้ถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมโรคได้ปกติ จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์ และควรมีการวัดความดันที่บ้านอย่างสม่ำเสมอควบคู่กับวัดที่โรงพยาบาลเช่นกัน

อย่างไรก็ตามทั้งภาวะ White Coat Hypertension หรือ Masked Hypertension ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงการมีความเสี่ยงสูงที่จะพัฒนาเป็นโรคความดันโลหิตสูงที่แท้จริงได้

วิธีวัดความดันโลหิตด้วยตัวเองที่บ้าน

  • นั่งพักอย่างน้อย 5 นาที ก่อนทำการวัด
  • นั่งเก้าอี้ให้หลังตรงพิงพนัก เท้าทั้งสองข้างวางราบกับพื้น ไม่นั่งไขว่ห้าง
  • วางแขนให้อยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ ขณะวัดไม่พูดคุย ไม่ขยับตัว ไม่กำมือ
  • ไม่ดื่มชา กาแฟ สูบบุหรี่ ก่อนทำการวัดอย่างน้อย 30 นาที
  • วัดช่วงเช้า ภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากตื่นนอนและปัสสาวะแล้ว วัด 2 ครั้งติดกัน ห่างกันครั้งละ 1 นาที
  • วัดช่วงก่อนเข้านอน วัด 2 ครั้งติดกัน ห่างกันครั้งละ 1 นาที

 

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : มหาวิทยาลัยมหิดล / ศูนย์ศรีพัฒน์


บทความที่เกี่ยวข้อง
5 เหตุผลที่ต้องมีเครื่องวัดความดันไว้ใช้ที่บ้าน
กรมควบคุมโรคและกระทรวงสาธารณสุข ได้เน้นย้ำให้ประชาชนวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งต้องสามารถแปลค่าความดันโลหิตของตนเองได้ ดังนั้น การเลือกมองหาเครื่องวัดความดันโลหิตที่สามารถวัดด้วยตนเองที่บ้านได้ จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างมากโดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง
5 ธ.ค. 2024
โรคความดันโลหิตสูง "ฆาตกรซุ่มเงียบ"
เป็นที่น่าตกใจจากสถานการณ์ความดันโลหิตสูงในประเทศไทย ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมากถึง 14 ล้านคน แต่ขึ้นทะเบียนรักษาเพียง 7 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาหรือไม่ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม อาจส่งผลให้พิการและเสียชีวิตได้
4 ธ.ค. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy