แชร์

โรคความดันโลหิตสูง "ฆาตกรซุ่มเงียบ"

อัพเดทล่าสุด: 4 ธ.ค. 2024
64 ผู้เข้าชม

เป็นที่น่าตกใจจากสถานการณ์ความดันโลหิตสูงในประเทศไทย อ้างอิงจากเว็บไซต์กรมควบคุมโรคที่ได้เปิดเผยฐานข้อมูลสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2567 มีผู้ป่วยจากโรคความดันโลหิตสูงรายใหม่ 507,104 คน และเขตสุขภาพที่ 9 ในระยะเวลาเพียง 6 เดือน พบผู้ป่วยรายใหม่แล้ว 62,000 คน ที่สำคัญประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมากถึง 14 ล้านคน แต่ขึ้นทะเบียนรักษาเพียง 7 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาหรือไม่ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม อาจส่งผลให้พิการและเสียชีวิตได้

โรคความดันโลหิตสูงคืออะไร ?

โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) คือ ภาวะที่แรงดันของเลือดดันที่ผนังหลอดเลือดสูงเกินปกติ คือ มากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท แรงดันที่เพิ่มขึ้นนี้สามารถทำลายหลอดเลือดได้ ซึ่งอาจไม่แสดงอาการ แต่จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ เช่น โรคหัวใจ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจวาย โรคไตวาย โรคหลอดเลือดในสมองแตก โรคอัมพาตจากหลอดเลือดในสมองตีบ โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม อาจทำให้ป่วยทุพพลภาพหรือเสียชีวิตได้

อาการของโรคความดันโลหิตสูง



ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่แสดงอาการอะไร แต่ในบางรายเมื่อมีความดันสูงขึ้นพบว่า มีอาการปวดศีรษะหรือปวดบริเวณท้ายทอย เวียนหัว มึนงง ใจสั่น นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย และเหนื่อยง่ายผิดปกติ หากมีความดันโลหิตสูงมากแบบเฉียบพลัน อาจมีเลือดกำเดาไหล และปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้น แต่หากมีอาการเจ็บหน้าอกและปวดศีรษะรุนแรงร่วมกับอาเจียน ชาตามมือ-เท้า หรือแขนข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง หรือตาข้างใดข้างหนึ่งมองไม่เห็นชั่วคราวในช่วงเวลาสั้น ๆ และหายสนิทได้เอง ควรเข้าพบแพทย์ให้ตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดทันที

สาเหตุของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง

สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. ความดันโลหิตแบบปฐมภูมิ คือ ความดันโลหิตสูงที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน สามารถพบได้มากกว่า 90% โดยเฉพาะในช่วงอายุ 35-40 ปี ที่ไม่พบโรคหรือภาวะผิดปกติที่เป็นต้นเหตุ อาจมีปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ของโรคความดันโลหิตสูง อาจพบได้เวลาที่เริ่มแก่ตัวลง

2. ความดันโลหิตแบบทุติยภูมิ คือ ความดันโลหิตสูงที่เกิดจากโรคหรือผลข้างเคียงของการใช้ยาหรือการใช้สารเสพติด ผู้ป่วยประเภทนี้อาจมีความดันโลหิตสูงขึ้นอย่างเฉียบพลัน เช่น

  • ภาวะอ้วนลงพุงหรือน้ำหนักเกิน
  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • ภาวะผิดปกติของเส้นเลือดตั้งแต่กำเนิด
  • ภาวะผิดปกติของไตหรือฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต
  • โรคไทรอยด์บางชนิด
  • ผลข้างเคียงการใช้ยา เช่น ยาคุม ยาแก้ปวด ยาระบาย ยาแก้หวัด
  • ผลข้างเคียงการใช้สารเสพติด เช่น โคเคน ยาบ้า
ทั้งนี้แล้วการดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด การพักผ่อนน้อย นอนไม่หลับ รวมถึงพฤติกรรมการรับประทานรสเค็มจัด ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ หรืออาจทำให้ผู้ที่เป็นโรคอยู่แล้วควบคุมความดันได้ยากมากขึ้นอีกด้วย

ปัจจัยเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง
  • อายุ เมื่ออายุมากขึ้น ความดันโลหิตก็ยิ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในผู้ชาย
  • กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีพ่อและแม่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้
  • อ้วนหรือน้ำหนักเกิน สัมพันธ์กับอัตราการเกิดความดันโลหิตที่เพิ่มสูงขึ้น
  • เกลือ หากมีปริมาณโซเดียมในร่างกายมากเกินจะทำให้ความดันโลหิตสูง
  • การสูบบุหรี่ ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้นทันที
  • แอลกอฮอล์ หากดื่มอย่างหนักในระยะยาว อาจทำให้หัวใจมีปัญหา

 

การวัดค่าความดันโลหิต

หน่วยที่ใช้วัดความดันโลหิตจะเป็น 'มิลลิเมตรปรอท (mm./ Hg)' ซึ่งจะวัดจากบริเวณท่อนแขนส่วนบนและจะปรากฏตัวเลขเพื่อประเมินผลอยู่ 2 ค่า ได้แก่

  • ค่าตัวบน (Systolic Pressure) คือ ค่าความดันเลือดขณะที่หัวใจบีบตัว ค่าความดันที่ดีควรอยู่ระหว่าง 120-129 mm./ Hg
  • ค่าตัวล่าง (Diastolic Pressure) คือ ค่าความดันเลือดขณะหัวใจคลายตัว ค่าความดันที่ดีควรอยู่ระหว่าง 80-84 mm./ Hg

ระดับเกณฑ์ของโรคความดันโลหิตสูง
  • ความดันที่ดี : น้อยกว่าหรือเท่ากับ 120 / 80 mm./ Hg
  • ระดับที่ปกติ : 120-129 / 80-84 mm./ Hg
  • ระดับที่ 1 : 140-159 / 90-99 mm./ Hg ความดันสูงระยะแรก แนะนำให้พบแพทย์
  • ระดับที่ 2 : 160-179 / 100-109 mm./ Hg ความดันสูงระยะปานกลาง แนะนำให้พบแพทย์
  • ระดับที่ 3 :  180 / 110 mm./ Hg ขึ้นไป ความดันสูงระยะรุนแรง อันตรายมาก พบแพทย์ด่วน

การวัดความดันโลหิตควรจะวัดขณะนั่งพักในท่าที่ถูกต้องทางเทคนิคการแพทย์ และควรวัดซ้ำ 2-3 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่ามีค่าความดันที่สูงหรือไม่ แนะนำให้มีเครื่องวัดความดันที่สามารถวัดความดันได้ด้วยตัวเองที่บ้าน เพื่อการตรวจเช็กความดันอย่างสม่ำเสมอ

การรักษาโรคความดันโลหิตสูง
เมื่อพบว่าตนเองมีภาวะหรือเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรที่จะได้รับการรักษาจากแพทย์เพื่อควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือใกล้เคียง ซึ่งแบ่งได้ 2 วิธี

  • รับประทานยา โดยผู้ป่วยแต่ละคนจะตอบสนองต่อยาชนิดต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน ซึ่งแพทย์จะปรับยาให้เหมาะสมตามแต่บุคคล ควรทานยาอย่างต่อเนื่องและเข้าพบของแพทย์ตามนัด
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ลดการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ความดันโลหิตสูง เช่น ลดอาหารเค็ม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดสูบบุหรี่ ควบคุมปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จัดการความเครียด และพักผ่อนให้เพียงพอ

 

โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา หากพบว่าตนเองเข้าข่ายเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ทันที ถึงแม้ใครหลายคนอาจจะยังมีความเข้าใจผิดที่ว่าไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงอะไรนัก แต่ถ้าหากคุณละเลยสุขภาพและปล่อยให้ร่างกายมีความดันโลหิตสูง ฆาตกร อาจจะซุ่มเล็งคุณอยู่

 

 

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :
กรมควบคุมโรค
โรงพยาบาลรามคำแหง


บทความที่เกี่ยวข้อง
ทำไม? ความดันสูงทุกทีที่ไปโรงพยาบาล แต่วัดที่บ้านแล้วปกติ
หลายคนอาจเคยเจอปัญหาค่าความดันโลหิตสูงทุกครั้งที่ไปหาหมอ แต่เมื่อวัดเองที่บ้านแล้วค่าความดันโลหิตกลับปกติ บางรายอาจตรวจพบได้ว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงจริง ๆ แต่บางรายอาจเป็นเพียงแค่ภาวะที่เรียกว่า White Coat Hypertension
10 ธ.ค. 2024
5 เหตุผลที่ต้องมีเครื่องวัดความดันไว้ใช้ที่บ้าน
กรมควบคุมโรคและกระทรวงสาธารณสุข ได้เน้นย้ำให้ประชาชนวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งต้องสามารถแปลค่าความดันโลหิตของตนเองได้ ดังนั้น การเลือกมองหาเครื่องวัดความดันโลหิตที่สามารถวัดด้วยตนเองที่บ้านได้ จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างมากโดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง
5 ธ.ค. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy