แชร์

"แผลกดทับ" น่ากลัวกว่าที่คิด....

อัพเดทล่าสุด: 17 มี.ค. 2025
51 ผู้เข้าชม

แผลกดทับ มักจะพบได้ในผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่เคลื่อนไหวร่างกายได้น้อยหรือไม่ได้เลย โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ที่ต้องนั่งบนเก้าอี้หรือรถเข็นวีลแชร์ ที่อาจทำให้เกิดปัญหาหรือมีความเสี่ยงในเรื่องของการเกิดแผลกดทับเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหากเป็นแผลกดทับแล้วไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ก็อาจทวีความรุนแรงไปถึงขั้นเสียชีวิตได้


แผลกดทับคืออะไร ?

แผลกดทับ (Pressure Sores) คือ การบาดเจ็บเฉพาะที่ของผิวหนังหรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ที่เกิดจากการโดนกดทับหรือเสียดสีอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ ทำให้บริเวณนั้นขาดเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยง นำไปสู่การเกิดเป็นแผลหรือการตายของเนื้อเยื่อผิวหนังบริเวณนั้น

ซึ่งส่วนใหญ่แล้วแผลกดทับมักจะเกิดขึ้นในบริเวณที่เป็นปุ่มกระดูก เช่น ข้างสะโพก ก้นกบ ส้นเท้า ข้อเท้า ศอก ไหล่ หลัง ท้ายทอย หรืออาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกันในบริเวณผิวหนังใต้อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ผิวหนังใต้สายออกซิเจน ผิวหนังใต้ปลอกคอ ผิวหนังใต้เฝือก ผิวหนังใต้ท่อระบายต่าง ๆ และอุปกรณ์การแพทย์ชนิดอื่น ๆ




แผลกดทับนั้นหากเป็นแล้วสามารถรักษาให้หายได้  แต่ก็มีโอกาสเป็นซ้ำ ถ้าหากละเลยหรือไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี ก็อาจทำให้อาการรุนแรงจนเกิดเป็นเนื้อตาย ลุกลามเป็นแผลบริเวณกว้าง และอาจลึกถึงชั้นกระดูกได้ หรือแผลอาจติดเชื้อจนส่งผลสูญเสียอวัยวะและระบบการทำงานของอวัยวะล้มเหลวและเสียชีวิตได้


ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดแผลกดทับ
  • ผู้ที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้เป็นปกติ เช่น ผู้ป่วยติดเตียง อัมพฤกษ์ อัมพาต มีภาวะอ่อนแรง รวมไปถึงผู้ป่วยที่ต้องสวมใส่เฝือก หรือสอดสายอุปกรณ์ช่วยเหลือทางการแพทย์ต่าง ๆ เป็นระยะเวลานาน
  • ผู้ที่สูญเสียการรับความรู้สึกหรือรับรู้ความรู้สึกได้ไม่สมบูรณ์ เช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการชาตามปลายมือปลายเท้า หรือผู้ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดสมอง กระดูก หรือเส้นประสาทต่าง ๆ ในบริเวณที่มีอาการชาหรือไม่มีความรู้สึก อาจทำให้ไม่รู้ตัวว่ามีแรงกดทับเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดแผลกดทับได้
  • ความเปียกชื้นจากเหงื่อ ปัสสาวะ อุจจาระเล็ดราด โดยเฉพาะในผู้ป่วยติดเตียงความชื้นจะทำให้ผิวหนังสูญเสียน้ำมันหล่อลื่นผิว เกิดการระคายเคือง แฉะ ลอก อักเสบ ทำให้เนื้อเยื่อเปื่อยหรือเกิดเนื้อตายมากขึ้น
  • น้ำหนักที่มากหรือน้อยเกินไป ผู้ที่ใช้รถเข็นวีลแชร์ที่ผอมเกินไปผิวหนังจะบางติดกระดูกทำให้การไหลเวียนเลือดที่ผิวหนังได้ไม่ดี เสี่ยงเป็นแผลกดทับและบาดแผลจะหายยาก
  • ภาวะทางโภชนาการ ในผู้ที่ขาดโปรตีนหรือรับสารอาหารไม่เพียงพอ จะทำให้ร่างกายซ่อมแซมและฟื้นฟูได้แย่ลง ส่งผลทำให้แผลหายช้า
  • ผู้สูงอายุ มักจะมีปัญหาในการเคลื่อนไหว ทั้งยังมีผิวหนังที่บอบบาง อาจจะเกิดการบาดเจ็บได้ง่ายกว่า

 

ระดับของแผลกดทับ

การแบ่งระดับแผลกดทับจะสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะและความรุนแรงของเนื้อเยื่อที่ได้รับบาดเจ็บหรือถูกทำลายจากน้อยไปมาก ดังนี้

ระดับที่ 1 : ผิวหนังยังคงสมบูรณ์ แต่บริเวณที่ถูกกดทับนั้นจะเริ่มปรากฏรอยแดง หากใช้นิ้วกดเบา ๆ รอยแดงนั้นจะไม่ซีดจางลง ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บ ปวด คัน

ระดับที่ 2 : ผิวหนังเริ่มเกิดเป็นแผล ชั้นผิวหนังแท้เสียหายบางส่วน เห็นเป็นแผลเปิดตื้น ๆ พื้นผิวแผลสีแดงชมพู ผิวหนังอาจตุ่มน้ำพอง หรือมีการแตกของตุ่มน้ำพอง อาจเห็นเป็นแอ่งตื้น ๆ ที่มีลักษณะแผลที่มันเงาหรือแห้ง ๆ ได้

ระดับที่ 3 : ผิวหนังเริ่มเกิดแผลลึกขึ้นจนไปถึงชั้นใต้ผิวหนังหรือชั้นไขมัน แต่ยังไม่ถึงชั้นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และกระดูก พื้นผิวแผลบางส่วนอาจมีเนื้อตาย มีโพรงหรือหลุมแผลเกิดขึ้น

ระดับที่ 4 : เกิดการสูญเสียผิวหนังทุกชั้น แผลลึกมองเห็นชั้นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และกระดูก อาจมีเนื้อตายที่มีลักษณะเหนียว (Slough) หรือเนื้อตายที่เป็นสะเก็ด (Eschar) แผ่นหนาติดอยู่ที่พื้นแผล ส่วนใหญ่พบร่วมกับโพรงและช่องใต้ผิวหนัง

และในบางกรณีก็อาจพบ แผลกดทับที่ไม่สามารถบอกระดับได้ (Unstageable) ซึ่งจะมีการสูญเสียผิวหนังทั้งหมด โดยที่พื้นแผลจะถูกปกคลุมไว้ด้วยเนื้อตายที่มีลักษณะเหนียว (Slough) สีเหลือง สีน้ำตาลเข้ม สีน้ำตาลอ่อน สีเทา หรือสีเขียว และ/หรือ อาจมีเนื้อตายที่เป็นสะเก็ดหนา (Eschar) สีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ปกคลุมบริเวณพื้นผิวแผล ทำให้ไม่สามารถเห็นพื้นแผลได้

รวมทั้งอาจพบแผลกดทับได้อีกกรณีที่มีการบาดเจ็บเนื้อเยื่อชั้นลึก ซึ่งบริเวณพื้นผิวหนังยังคงอยู่ปกติ ไม่มีแผลหรือไม่มีการฉีกขาด แต่ลักษณะของสีผิวหนังจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงหรือสีน้ำตาลแดง หรือมีผิวหนังพองที่มีเลือดอยู่ข้างใน (Blood - Fiiled Blister) ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปวด แข็ง แฉะ หรือหยุ่นเหมือนมีน้ำใต้ผิวหนัง


วิธีการป้องกันแผลกดทับ

  • จัดท่าหรือเปลี่ยนท่าทางบ่อย ๆ สม่ำเสมอ หากเคลื่อนไหวด้วยตัวเองได้ควรขยับเปลี่ยนท่านั่งหรือท่านอนบ่อย ๆ หากจำเป็นต้องได้รับการพลิกตัวจากผู้ดูแล ควรพลิกตัวทุก 2 ชั่วโมง
  • เลือกใช้อุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อลดแรงกดทับ เช่น เบาะรองนั่ง เตียงฟองน้ำ ที่นอนลม
  • รับประทานอาหารที่ให้สารอาหารหรือคุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วน
  • ออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวตามความเหมาะสม เพื่อการไหลเวียนเลือดที่ดี  
  • ดูแลความสะอาดของผิวหนังเพื่อไม่ให้เกิดความอับชื้นหรือเปียกแฉะ
  • หมั่นตรวจเช็กตามจุดเสี่ยงต่าง ๆ บนร่างกายที่มีโอกาสเกิดแผลกดทับได้ง่าย
  • หากพบผิดปกติควรรีบทำการรักษาอย่างถูกต้อง

 

การรู้จักป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับนั้นนับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลต่อคุณภาพการใช้ชีวิตของผู้ป่วย เพราะจะลดความเสี่ยงในการเกิดบาดแผลความเจ็บปวด ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ และลดความรุนแรงของบาดแผลที่อาจส่งผลให้เกิดการสูญเสียอวัยวะหรือเสียชีวิตได้


 

 

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์Bumrungrad International HospitalNun Ah HospitalHealth at Home


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy