แชร์

อุปกรณ์ช่วยเดินมีอะไรบ้าง ? เหมาะกับผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุแบบใด

อัพเดทล่าสุด: 25 ก.ค. 2024
261 ผู้เข้าชม

อุปกรณ์ช่วยเดิน (Gait Aids) คือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการช่วยพยุงเดินเพื่อปรับปรุงรูปแบบการเดินและการเคลื่อนที่ให้สะดวกขึ้น สำหรับผู้ใช้งานที่มีปัญหาหรือภาวะการเดินไม่ปกติ ซึ่งสามารถแบ่งประเภทผู้ใช้งานอุปกรณ์ช่วยเดินได้ดังนี้

  • ผู้ป่วยที่มีการหักของรยางค์ล่าง (รยางค์ล่าง คือ ส่วนที่นับตั้งแต่สะโพกไปจนถึงข้อเท้า)
  • ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดทางกระดูกต่าง ๆ เช่น ข้อสะโพกเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม ขาหัก
  • ผู้ที่มีปัญหาข้ออักเสบหรือโรคประจำตัว เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเก๊า หรือข้อต่อมีอาการเจ็บปวด
  • ผู้ที่มีปัญหาด้านการทรงตัวเดินไม่มั่นคง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ โรคพาร์กินสัน หรือโรคประสาทส่วนปลายผิดปกติ
  • ผู้ที่มีปัญหาด้านสมองหรือไขสันหลัง เช่น กลุ่มผู้พิการ ภาวะอัมพฤกษ์อัมพาตจากหลอดเลือดในสมองตีบหรือแตก มีภาวะแขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรงที่ขยับได้น้อยหรือขยับไม่ได้เลย

ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดจะต้องพิจารณาเลือกใช้งานอุปกรณ์ช่วยเดินให้เหมาะสมกับลักษณะภาวะหรืออาการของผู้ใช้งาน เพราะหากเลือกใช้งานผิดประเภทอาจส่งผลกระทบร้ายแรงหรือเกิดอุบัติเหตุไม่คาดคิดได้ โดยปัจจุบันมีการแบ่งประเภทอุปกรณ์ช่วยเดินไว้ ดังนี้


1. ไม้ค้ำยัน (Crutches)

ไม้ค้ำยันเป็นอุปกรณ์พยุงเดินที่ได้รับความนิยมสูง ช่วยเพิ่มความมั่นคงในการทรงตัวขณะยืนและเดินได้ดี สามารถรองรับน้ำหนักได้ถึงร้อยละ 40-80 ของน้ำหนักตัว เหมาะสำหรับผู้ที่มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขนและไหล่ทั้ง 2 ข้าง เพราะไม้ค้ำยันมีลักษณะการใช้งานแบบคู่ที่จำเป็นต้องใช้พละกำลังในการออกแรงมาก เพื่อควบคุมการเปลี่ยนถ่ายน้ำหนักจากส่วนขาไปยังส่วนบนของร่างกาย ไม้ค้ำยันแบ่งออกได้ 2 รูปแบบหลัก

1.1)  ไม้ค้ำยันรักแร้ (Axillary Crutches)

มีลักษณะเป็นแกนใช้คู่ส่วนใหญ่ทำจากวัสดุไม้และอะลูมิเนียม มีแผ่นรองรักแร้ที่บุด้วยวัสดุนิ่ม เพื่อไม่ให้เกิดแรงกดทับเส้นประสาทบริเวณรักแร้มากเกินไป มีมือจับที่สามารถปรับระดับความสูง-ต่ำ เพื่อให้เหมาะสมกับระดับความยาวแขนของผู้ใช้ และส่วนปลายไม้ค้ำยันมีจุกยางกันลื่น ให้ความมั่นคงสูงรองรับการถ่ายเทน้ำหนักตัวได้ประมาณ 80%

เหมาะสำหรับ : ผู้ใช้งานที่ไม่สามารถเดินหรือลงน้ำหนักช่วงล่างของร่างกายได้อย่างเต็มที่ เช่น ข้อเท้าแพลง กระดูกขาหัก-ร้าว อัมพาตครึ่งล่าง หรือผู้พิการสูญเสียขา และ ต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการทรงตัวค่อนข้างดี

ไม่เหมาะสำหรับ : ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่กล้ามเนื้อแขนและไหล่ทั้ง 2 ข้าง ไม่แข็งแรง เพราะเสี่ยงต่อการล้ม

1.2)  ไม้ค้ำยันแขนส่วนล่าง (Foarm Crutches)

หรือเรียกอีกชื่อ ไม้ค้ำยันศอก (Lofstrand Crutches) มีลักษณะเป็นแกนอะลูมิเนียมน้ำหนักเบา ให้ความคล่องตัวมากกว่าไม้ค้ำยันรักแร้ สามารถปล่อยมือออกจากไม้ค้ำยันเพื่อหยิบจับสิ่งของได้ มีส่วนรองรับน้ำหนักอยู่ที่มือจับและแผ่นพลาสติกแข็งรองท่อนแขนช่วงข้อศอก ส่วนปลายไม้ค้ำยันมีจุกยางกันลื่น ให้ความมั่นคงน้อยกว่าไม้ค้ำยันรักแร้ รองรับการถ่ายเทน้ำหนักตัวได้ประมาณ 40-50%

เหมาะสำหรับ : ผู้ใช้งานที่ไม่สามารถเดินหรือลงน้ำหนักช่วงล่างของร่างกายได้อย่างเต็มที่ เช่น ข้อเท้าแพลง กระดูกขาหัก-ร้าว อัมพาตครึ่งล่าง ผู้พิการสูญเสียขา หรือใช้ในช่วงการทำกายภาพบำบัด และต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการทรงตัวค่อนข้างดี

ไม่เหมาะสำหรับ : ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่กล้ามเนื้อแขนและไหล่ทั้ง 2 ข้าง ไม่แข็งแรง เพราะเสี่ยงต่อการล้ม


2. ไม้เท้า (Canes)

ไม้เท้าเป็นอุปกรณ์ช่วยเดินที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีอาการปวดขาหรือขาอ่อนแรงข้างเดียว เพราะไม้เท้าสามารถช่วยถ่ายเทน้ำหนักตัวได้บางส่วนแทนขาข้างที่มีปัญหาได้ประมาณ 20-25% เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นคง ไม้เท้าจึงเหมาะสำหรับผู้ใช้งานที่มีความสามารถในการเดินค่อนข้างปกติ แต่อาจมีปัญหาในอาการที่ต้องใช้ไม้เท้าเพื่อช่วยพยุงการเดินให้ดีขึ้น อีกทั้งด้ามจับก็มีให้เลือกหลายรูปแบบเพื่อความถนัดในการจับ เช่น หัวค้อน หัวนกแก้ว หัวก้านร่ม เป็นต้น ไม้เท้าแบ่งออกได้ 2 รูปแบบหลัก

2.1)  ไม้เท้าขาเดียว (Single Cane)

เป็นไม้เท้าแบบมาตรฐานธรรมดา มีลักษณะเป็นแกนอะลูมิเนียมขาเดียว ปลายไม้เท้ามีจุกยางกันลื่น น้ำหนักเบา ใช้งานง่าย พกพาสะดวก สามารถปรับระดับความสูง-ต่ำได้ และในบางรุ่นสามารถออกแบบให้พับเก็บได้ หรือออกแบบให้มีเก้าอี้พับเสริมเพื่อเพิ่มฟังก์ชันการใช้งาน

เหมาะสำหรับ : ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่ยังมีการเดินที่ดี เนื่องจากเป็นไม้เท้าขาเดียว เวลาลงน้ำหนักอาจทำให้ไม้เท้าสั่นหรือโยกเยกได้ ดังนั้นผู้ใช้งานจะต้องยังมีความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองค่อนข้างดี

ไม่เหมาะสำหรับ : ผู้ที่ไม่สามารถลงน้ำหนักการเดินได้ เช่น ผู้ป่วยกระดูกขาหัก ผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดกระดูก หรือผู้พิการสูญเสียขา

2.2)  ไม้เท้า 3 ขา และ 4 ขา (Tripod Cane and Quad Cane)

เป็นไม้เท้าที่มีลักษณะส่วนบนคล้ายกับไม้เท้าขาเดียว แต่ในส่วนปลายไม้เท้าจะมีส่วนขาแยกออกไปเป็น 3 หรือ 4 ขา พร้อมจุกยางกันลื่น ให้ความมั่นคงมากกว่าไม้เท้าขาเดียว สามารถกระจายการรองรับน้ำหนักได้กว้างขึ้น และหากปล่อยมือออกจากด้ามจับไม้เท้าก็ยังสามารถคงตั้งอยู่ได้ แต่ก็มีข้อควรระวังในการใช้ คือ ต้องมีกำลังแขนแข็งแรงเพราะไม้เท้าค่อนข้างมีน้ำหนัก การยกวางไม้เท้าจะต้องวางให้ขาไม้เท้าลงพื้นพร้อมกัน หากวางขาไม้เท้าลงไม่พร้อมกัน จะทำให้เสียการทรงตัวและล้มได้ในทันที ที่สำคัญจะต้องใช้งานในพื้นที่ทางเรียบเท่านั้น และอาจจะมีความลำบากในการพกพามากกว่าไม้เท้าขาเดียว

เหมาะสำหรับ : ผู้สูงอายุที่ยังมีกำลังแขนและการเดินที่พอช่วยเหลือตัวเองได้ หรือผู้ป่วยที่มีกำลังแขน-ขาเพียงข้างเดียว เช่น อัมพาตครึ่งซีก 

ไม่เหมาะสำหรับ : ผู้ที่ไม่สามารถลงน้ำหนักการเดินได้ เช่น ผู้ป่วยกระดูกขาหัก ผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดกระดูก หรือผู้พิการสูญเสียขา


3. โครงเหล็กช่วยเดิน (Walker Frame)

โครงเหล็กช่วยเดิน หรือ วอล์คเกอร์ เป็นอุปกรณ์ช่วยเดินชนิด 4 ขา ที่เหมาะสำหรับผู้ที่บกพร่องด้านการทรงตัวและก้าวเดินไม่ปกติ ช่วยลดการลงน้ำหนักของขาที่มีปัญหาได้เกือบ 100% ทำจากอะลูมิเนียมแข็งแรง มีมือจับ 2 ข้าง สามารถปรับระดับความสูง-ต่ำได้ เดินง่าย น้ำหนักเบา มีคานรองรับที่มั่นคง แต่อาจจะพกพาลำบากเพราะมีขนาดใหญ่เทอะทะ และไม่สามารถใช้เดินขึ้น-ลงบันไดได้ โครงเหล็กช่วยเดินแบ่งออกได้ 2 รูปแบบหลัก

3.1)  โครงเหล็กช่วยเดินแบบมาตรฐาน (Standard Walker)

มีลักษณะเป็นโครงแบบ 4 ขา ปลายทั้ง 4 ขาหุ้มจุกกันลื่น มาพร้อมคานรองรับที่มั่นคงสูง สามารถปรับระดับความสูง-ต่ำได้ บางรุ่นสามารถพับเก็บได้ ผู้ใช้จะต้องมีกำลังแขนที่แข็งแรงทั้ง 2 ข้าง เพราะจะต้องใช้กำลังมือและแขนจับยกเดิน

เหมาะสำหรับ : ผู้สูงอายุที่ทรงตัวไม่มั่นคง เดินได้ช้า หรือผู้ใช้งานที่อยู่ระหว่างการทำกายภาพบำบัด ฝึดหัดเดิน ฝึกเคลื่อนไหวร่างกาย

ไม่เหมาะสำหรับ : ผู้ที่มีความอ่อนแรงของแขนทั้ง 2 ข้าง ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน หรือแรงแขนทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน

3.2)  โครงเหล็กช่วยเดินแบบมีล้อ (Whelled Walker or Roller Walker)

มีลักษณะคล้ายแบบมาตรฐาน แต่ 2 ขาด้านหน้าเป็นล้อ คล้าย ๆ รถเข็นหัดเดิน ผู้ใช้สามารถค่อย ๆ จับผลักหรือไถไปด้านหน้า ซึ่งจะให้รูปแบบการเดินที่ใกล้เคียงกับการเดินปกติมากขึ้น เพิ่มความคล่องตัวในการเดินได้ดี และยังช่วยลดระยะเวลาในการเดินหรือเดินไปถึงจุดหมายได้เร็วขึ้น จึงเหมาะกับผู้ที่มีความแข็งแรงกล้ามเนื้อขาค่อนข้างดี แต่ก้าวเดินได้น้อย 

เหมาะสำหรับ : ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคกระดูก ปวดเข่า ปวดสะโพก หรือโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดสมอง และผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เท่าที่ควร ก้าวเดินได้น้อย

ไม่เหมาะสำหรับ : ผู้ที่มีความอ่อนแรงของขาหรือทรงตัวไม่ค่อยได้ 


สรุป

อุปกรณ์ช่วยเดินเป็นตัวช่วยที่จะสามารถปรับปรุงการเดินให้สะดวกขึ้นในผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องการเดินได้ ไม่ว่าจะเป็น ไม้ค้ำยัน ไม้เท้า หรือวอล์คเกอร์ และก่อนจะเลือกใช้อุปกรณ์ช่วยเดินในแต่ละประเภทนั้น จะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมกับอาการและความพร้อมของร่างกายเป็นสำคัญ และควรได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญถึงวิธีการใช้งานที่ถูกต้องเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy